การทำงานกับเว็บไซต์หลายภูมิภาค

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2010

ทราบไหมว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ทำการสํารวจรู้สึกว่าการมีข้อมูลในภาษาของตนสําคัญกว่าราคาที่ต่ำ จากการอาศัยอยู่ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมเห็นเพื่อนและสมาชิกครอบครัวมองหาและใช้เว็บไซต์ท้องถิ่นและที่แปลเป็นภาษาท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน เว็บไซต์ที่ได้รับการแปลอย่างเหมาะสมมีประโยชน์สําหรับผู้ใช้อย่างแน่นอน Google พยายามอย่างเต็มที่เพื่อแสดงผลการค้นหาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แก่ผู้ใช้ ซึ่งหลายครั้งจะเป็นหน้าที่มีการแปลสําหรับสถานที่ตั้งของผู้ใช้และ/หรือในภาษาของผู้ใช้

หากคุณวางแผนที่จะให้เวลากับการสร้างและบํารุงรักษาเว็บไซต์เวอร์ชันที่มีการแปล การทําให้เว็บไซต์รับรู้และพบได้ง่ายก็เป็นเรื่องที่จำเป็นของกระบวนการดังกล่าว ในซีรีส์บล็อกโพสต์นี้ เราจะมาดูสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ที่ให้บริการในหลายภูมิภาคและหลายภาษาจากมุมมองของเครื่องมือค้นหา เว็บไซต์ที่ให้บริการในหลายภูมิภาคเป็นเว็บไซต์ที่กําหนดเป้าหมายผู้ใช้ในหลายภูมิภาคอย่างชัดเจน (โดยทั่วไปแล้วจะเป็นประเทศอื่นๆ) เราเรียกเว็บไซต์นี้ว่าหลายภาษาเมื่อเว็บไซต์พร้อมใช้งานในหลายภาษา และบางครั้งเว็บไซต์อาจกําหนดเป้าหมายเป็นทั้งหลายภูมิภาคและในหลายภาษา เราจะเริ่มด้วยการเตรียมตัวทั่วไปกันก่อน แล้วจากนั้นจะดูตัวอย่างเว็บไซต์ที่กําหนดเป้าหมายไปยังหลายภูมิภาค

การเตรียมพร้อมสําหรับเว็บไซต์ที่ใช้งานทั่วโลก

การขยายเว็บไซต์เพื่อให้ครอบคลุมภูมิภาคและ/หรือภาษาที่หลากหลายอาจเป็นงานที่ท้าทาย การสร้างเว็บไซต์หลายเวอร์ชันจะทําให้เกิดปัญหาที่พบในเวอร์ชันพื้นฐานเพิ่มขึ้น โปรดตรวจสอบว่าคุณมีทุกอย่างที่ทํางานได้อย่างถูกต้องก่อนเริ่มต้น ซึ่งโดยทั่วไปหมายความว่าอยู่ๆ คุณก็จะต้องทำงานกับ URL จํานวนมากขึ้น อย่าลืมว่าคุณต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อรองรับเว็บไซต์

การวางแผนสำหรับเว็บไซต์หลายภูมิภาค

เมื่อวางแผนทำเว็บไซต์สําหรับหลายภูมิภาค (โดยทั่วไปจะเป็นหลายประเทศ) อย่าลืมค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดทางกฎหมายหรือการดูแลระบบที่อาจเป็นสิ่งแรกที่คุณต้องทำ ข้อกําหนดเหล่านี้อาจเป็นตัวกําหนดวิธีดําเนินการของคุณ เช่น คุณจะมีสิทธิ์ใช้ชื่อโดเมนเฉพาะประเทศหรือไม่

ทุกเว็บไซต์เริ่มต้นด้วยชื่อโดเมน เมื่อพูดถึงชื่อโดเมน Google จะแยกความแตกต่างระหว่างชื่อโดเมน 2 ประเภทต่อไปนี้

  • ccTLD (ชื่อโดเมนระดับบนสุดตามรหัสประเทศ): รหัสเหล่านี้ผูกกับประเทศใดประเทศหนึ่ง (เช่น .de สําหรับเยอรมนี, .cn สําหรับจีน) ผู้ใช้และเครื่องมือค้นหาจะใช้ข้อมูลนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์สําหรับประเทศใด
  • gTLD (ชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป): ชื่อโดเมนเหล่านี้ไม่เชื่อมโยงกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ตัวอย่างของ gTLD ได้แก่ .com, .net, .org และ .museum Google จะมองว่าชื่อโดเมนระดับบนสุดในระดับภูมิภาค เช่น .eu และ .asia เป็น gTLD เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้เรายังถือว่า Vanity ccTLD บางรายการ (เช่น .tv, .me) เป็น gTLD เนื่องจากเราได้พบว่าผู้ใช้และผู้ดูแลเว็บมักถือว่า Vanity ccTLD เหล่านี้เป็นโดเมนที่ทั่วไปมากกว่าโดเมนที่กำหนดเป้าหมายประเทศ (เราไม่มีรายการทั้งหมดของ Vanity ccTLD ที่เราถือว่าเป็น gTLD เพราะรายการดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป) คุณกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์สําหรับเว็บไซต์ที่มีโดเมนแบบ gTLD ได้โดยใช้การตั้งค่าเป้าหมายทางภูมิศาสตร์ของเครื่องมือของผู้ดูแลเว็บ

ปัจจัยการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์

โดยทั่วไป Google จะใช้องค์ประกอบต่อไปนี้ในการกําหนดการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ของเว็บไซต์ (หรือส่วนหนึ่งของเว็บไซต์)

  1. การใช้ ccTLD เป็นสัญญาณที่สําคัญมากสําหรับผู้ใช้ เนื่องจากมักจะระบุประเทศไว้อย่างชัดเจนโดยไม่มีทางผิดพลาด

    หรือ

    การกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ด้วยตนเองของเครื่องมือของผู้ดูแลเว็บสําหรับ gTLD (ซึ่งอาจอยู่ในระดับโดเมน โดเมนย่อย หรือไดเรกทอรีย่อย) ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่บล็อกโพสต์และในศูนย์ช่วยเหลือ ด้วยแท็กภูมิภาคจากการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ที่แสดงอยู่ในผลการค้นหา วิธีนี้จึงทําให้ผู้ใช้เข้าใจได้อย่างชัดเจนอีกด้วย โปรดทราบว่าโดยทั่วไปแล้ว การกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์มักจะไม่เหมาะสมหากหน้าเดียวกันในเว็บไซต์ของคุณกําหนดเป้าหมายไปยังหลายประเทศ (เช่น ทุกประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน) คุณเพียงแค่เขียนเป็นภาษานั้น และอย่าใช้การตั้งค่าการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ (การเขียนในภาษาอื่นๆ จะตามมาในเร็วๆ นี้)

  2. ตําแหน่งของเซิร์ฟเวอร์ (ผ่านที่อยู่ IP ของเซิร์ฟเวอร์) มักจะอยู่ใกล้กับผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์บางแห่งใช้เครือข่ายนำส่งข้อมูล (CDN) แบบกระจายหรือโฮสต์อยู่ในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานของเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่ดีกว่า เราจึงไม่ต้องพึ่งตําแหน่งของเซิร์ฟเวอร์เพียงอย่างเดียว
  3. สัญญาณอื่นๆ ก็ช่วยบอกใบ้เราได้ โดยอาจเป็นสัญญาณจากที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ท้องถิ่นในหน้าเว็บ การใช้ภาษาและสกุลเงินท้องถิ่น ลิงก์จากเว็บไซต์ท้องถิ่นอื่นๆ และ/หรือการใช้ Local Business Center ของ Google's (หากมี)

โปรดทราบว่าเราไม่ใช้แท็ก meta ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง (เช่น geo.position หรือ distribution) หรือแอตทริบิวต์ HTML สำหรับการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ แม้ว่าแท็กเหล่านี้จะมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่เราพบว่าโดยทั่วไปแล้วไม่น่าเชื่อถือพอสําหรับการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์

โครงสร้าง URL

องค์ประกอบ 3 อย่างแรกที่ใช้ในการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ผูกโยงอยู่กับเซิร์ฟเวอร์และ URL ที่ใช้อย่างแน่นหนา การกําหนดการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์แบบหน้าต่อหน้านั้นทําได้ยาก คุณจึงควรพิจารณาใช้โครงสร้าง URL ที่ทำให้แบ่งส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์เพื่อกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ได้ง่าย ต่อไปนี้เป็นโครงสร้าง URL ที่เป็นไปได้บางส่วนพร้อมข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์

ccTLD เช่น example.de, example.fr เป็นต้น โดเมนย่อยที่มี gTLD เช่น de.site.com, fr.site.com เป็นต้น ไดเรกทอรีย่อยที่มี gTLD เช่น site.com/de/, site.com/fr/ เป็นต้น พารามิเตอร์ของ URL เช่น site.com?loc=de, ?country=france เป็นต้น

ข้อดี (+)

  • กำหนดเป้าหมายทางภูมิศาตร์ได้อย่างชัดเจน
  • ตําแหน่งของเซิร์ฟเวอร์ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
  • แยกเว็บไซต์ได้ง่าย
  • ข้อกําหนดทางกฎหมาย (บางครั้ง)

ข้อดี (+)

  • ตั้งค่าได้ง่าย
  • สามารถใช้การกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ของเครื่องมือของผู้ดูแลเว็บได้
  • อนุญาตตำแหน่งของเซิร์ฟเวอร์ที่หลากหลาย
  • แยกเว็บไซต์ได้ง่าย

ข้อดี (+)

  • ตั้งค่าได้ง่าย
  • สามารถใช้การกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ของเครื่องมือของผู้ดูแลเว็บได้
  • ไม่ต้องบำรุงรักษามาก (โฮสต์เดียวกัน)

ข้อดี (+)

(ไม่แนะนำ)

ข้อเสีย (-)

  • ค่าใช้จ่ายสูง (+ ความพร้อมใช้)
  • ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น
  • ข้อกําหนดของ ccTLD (บางครั้ง)

ข้อเสีย (-)

  • ผู้ใช้อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์จาก URL เพียงอย่างเดียวได้ ("de" อาจหมายถึงภาษาหรือประเทศก็ได้)

ข้อเสีย (-)

  • ผู้ใช้อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์จาก URL เพียงอย่างเดียวได้
  • ตำแหน่งเซิร์ฟเวอร์เดียว
  • แยกเว็บไซต์ได้ยากกว่า

ข้อเสีย (-)

  • การแบ่งกลุ่มลูกค้าตาม URL เป็นเรื่องยาก
  • ผู้ใช้อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์จาก URL เพียงอย่างเดียวได้
  • ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ในเครื่องมือของผู้ดูแลเว็บได้

จะเห็นได้ว่าการกําหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ไม่ใช่วิธีการที่มีความแม่นยํา (แม้แต่เว็บไซต์ที่ใช้ชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบรหัสประเทศก็อาจทํางานได้ทั่วโลก) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องวางแผนผู้ใช้จากสถานที่ตั้งที่ "ไม่ถูกต้อง" วิธีหนึ่งที่ทำได้คือแสดงลิงก์ในหน้าทุกหน้าให้ผู้ใช้ได้เลือกภูมิภาคและภาษาที่ตนต้องการ เราจะมาดูวิธีแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เป็นไปได้ในซีรีส์บล็อกโพสต์นี้

การจัดการเนื้อหาที่ซ้ำกันในเว็บไซต์ที่ใช้งานทั่วโลก

บางครั้งเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสำหรับภูมิภาคและภาษาที่หลากหลายสร้างเนื้อหาที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันแต่พร้อมใช้งานบน URL ที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปกรณีนี้จะไม่เป็นปัญหาตราบเท่าที่เนื้อหานั้นเป็นเนื้อหาสำหรับผู้ใช้ที่ต่างกันในประเทศที่ต่างกัน แม้ว่าเราจะแนะนำว่าคุณควรให้เนื้อหาที่ไม่ซ้ำสำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่แตกต่างกัน เราเข้าใจดีว่าในบางครั้งการทำเช่นนั้นอาจเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกสำหรับหน้าและตัวแปรทั้งหมด โดยทั่วไปเราไม่จําเป็นต้อง "ซ่อน" เนื้อหาที่ซ้ำกันโดยไม่อนุญาตให้ทำการ Crawl ในไฟล์ robots.txt หรือโดยใช้แท็ก noindex robots meta อย่างไรก็ตาม หากคุณแสดงเนื้อหาเดียวกันให้แก่ผู้ใช้กลุ่มเดียวกันใน URL ที่ต่างกัน (เช่น หากทั้ง "example.de/" และ "example.com/de/" แสดงเนื้อหาภาษาเยอรมันสําหรับผู้ใช้ในเยอรมนี) คุณควรเลือกเวอร์ชันที่ต้องการและเปลี่ยนเส้นทาง (หรือใช้องค์ประกอบ "rel=canonical" link ) อย่างเหมาะสม

หากคุณมีเว็บไซต์ที่กำหนดเป้าหมายหลายภูมิภาคอยู่แล้ว หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนการวางแผน โปรดไปที่ฟอรัมความช่วยเหลือและเข้าร่วมการสนทนา ในโพสต์ต่อไปนี้ เราจะดูเว็บไซต์หลายภาษา และดูตัวอย่างสถานการณ์พิเศษที่อาจเกิดขึ้นกับเว็บไซต์ที่ใช้งานทั่วโลก แล้วเจอกันใหม่